เบื้องหลัง เกมลึก "ทัพเรือ" ยกธงขาว ถอนสมอ ยอมชะลอ "เรือดำน้ำ"
บันทึก
SHARE
เบื้องหลัง "บิ๊กตู่" หารือ "บิ๊กป้อม" ก่อนส่งสัญญาณให้ ผบ.ทร. ยอมถอนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำออกจากร่าง พ.ร.บ.งบฯ65 เพราะประเมินแล้วทานกระแสสังคมไม่ไหว
ผลจาก "ฝ่ายค้าน" โจมตี "กองทัพเรือ" อย่างหนัก การนำงบฯไปจัดซื้อเรือดำน้ำทั้งที่ประเทศชาติเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ประชาชนต้องการวัคซีนมากกว่าเรือดำน้ำ พร้อมขู่เตรียมแฉนายหน้าขายเรือดำน้ำจนเป็นเหตุถึงการต้องยอมพับโครงการ
"กองทัพเรือ" ยอมชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ออกไปอีกปี พร้อมชี้แจงทำตามหน้าที่ในการเสนองบฯ ไม่มีวาระซ่อนเร้น และการจัดซื้อติดต่อตรงระหว่างกองทัพเรือกับกลาโหมจีน แบบ G to G
ในที่สุดโครงการจัดซื้อ
"เรือดำน้ำ" S26T ลำที่ 2-3 จากประเทศจีน ของ
"กองทัพเรือ" ต้องยอมถอย และถอนออกจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 หลังถูกพรรคฝ่ายค้านลากไส้ ตามบี้ ขยี้ ไม่ปล่อย กดดันจน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ต้องสั่ง
พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. พับแผน เพื่อชะลอโครงการต่อไปอีก 1 ปี หลังทนถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนัก ในห้วงที่บ้านเมืองเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19
ข่าวแนะนำ
"ฝ่ายค้าน" ยังตามแฉอีกหลายโครงการที่
"กองทัพเรือ" มัดรวมพิจารณาในคราวเดียวพร้อมกับ 8 หน่วยงาน ซึ่งมองว่ากระทรวงกลาโหมงุบงิบปล่อยของออกมาพร้อมกัน โดยไม่ให้นำเสนอพิจารณาแยกทีละหน่วยงานเหมือนกระทรวงอื่น ทั้งที่งบกลาโหมมีมากกว่า 2 แสนล้านบาท
โดยตรวจพบมีโครงการจัดซื้อ "เรือแอลพีดี" หรือ "เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์" มูลค่า 6,200 ล้านบาท การจัดซื้อ "โดรนป้องกันชายฝั่ง" มูลค่า 4,500 ล้านบาท โครงการสร้างระบบ "วิทยุสื่อสารเรือดำน้ำ" 300 ล้านบาท ที่เป็นออปชันมากับเรือดำน้ำ และถูกเสนอขอมาในงบฯปี 2565 รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องด้วย
ฝ่ายค้าน ยังทิ้งน้ำหนักว่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เมื่อถึงทางตัน จึงสั่งให้ถอนเรื่องเรือดำน้ำ 2 ลำออกไป พร้อมอ้างเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชน แต่แท้จริงเหตุที่ต้องถอนเพราะใจดำ ปากกับใจไม่ตรงกัน ถ้าไม่ฟ้องสื่อจะยอมถอนหรือ อย่าเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น
แต่เบื้องหลังการที่ "กองทัพเรือ" ต้องถอนโครงการจัดซื้ออกไปเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า "รัฐบาล" และ "กองทัพ" ถูกกระแสสังคมจ้องมองอย่างหนัก ด้วยสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญกับโควิด ปัญหาการเมืองรัฐบาลก็ถูกโจมตีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะวิกฤติศรัทธา จากการแก้ปัญหาโควิด และการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไม่เป็นมืออาชีพ กระทั่งเสียคะแนนนิยมแบบสุดกู่ ยิ่งไปกว่านั้น
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ กมธ.งบประมาณ ออกมาขู่จะแฉเรื่องนายหน้าขายเรือดำน้ำ ที่อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้วย
ดังนั้นเมื่อประเมินเห็นว่า หากดึงดันเสนอการจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" เข้าไปก็มีแต่ลบ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้ต่อสายหารือกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับทางกลาโหมจีน ก่อนที่จะแจ้งให้
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯและเลขาธิการพรรค แจ้ง กมธ.งบฯ ในส่วนของ
พปชร. ให้คัดค้าน และให้ ทร.ถอนงบฯ ก่อนที่จะออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในห้วงต่อมา
ขณะเดียวกันทาง
พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ส่งสัญญาณให้
พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ทราบเมื่อบ่ายวันที่ 18 ก.ค. ก่อนที่จะมีคิวชี้แจงในชั้น กมธ.งบฯ วันที่ 19 ก.ค. โดยยกเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องชะลอโครงการอีก 1 ปี พร้อมให้เตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งให้ กลาโหมจีนรับทราบในการที่ ทร.ต้องถอนงบฯจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ออกไป
ที่สำคัญ พล.ร.อ.ชาติชาย มีแนวคิดอยากจะถอนงบฯเรือดำน้ำตั้งแต่เกิดโควิดรุนแรง เพราะเชื่อว่า คงไม่ผ่านด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ระหว่างนั้นยังไม่ได้รับสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จึงเดินหน้ามาจนถึง กมธ.
"การจัดซื้อเรือดำน้ำไม่มีนายหน้า ไม่มีคนกลาง เป็นการติดต่อตรงระหว่างกองทัพเรือกับกลาโหมจีน และทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ที่ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือกันโดยตรงตามข้อตกลง และโปร่งใส ไม่ผ่านคนกลาง หรือบริษัทนายหน้าอื่นใด"
จากนั้น "กองทัพเรือ" ได้ส่ง
พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ ออกมาระบุ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอตัดงบประมาณส่วนนี้ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนกองทัพเรือทำตามหน้าที่ในการเสนองบประมาณตามขั้นตอนตามปกติ โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น เราทำตามหน้าที่ และไม่ว่าจะเสนอในช่วงเวลาใดก็ถูกกระแสโจมตี ไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วงนี้ และหากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาจัดซื้อ กองทัพเรือก็พร้อมยอมรับ
ที่สำคัญกองทัพเรือก็มีหน้าที่รักษาความพร้อมรบ และพัฒนากองทัพ หากเว้นช่วงไปก็จะเกิดผลกระทบได้ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะการจัดซื้อแบบรวมการ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่ 2 และ 3 เพื่อนำมาหมุนเวียนในช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประกอบ
การตั้งงบประมาณปี 2565 ได้มีการเจรจากับจีน ขอลดวงเงินในปีแรกลง 1 ใน 3 ตามคำแนะนำของฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และเตรียมข้อมูลเหตุผลความจำเป็นเพื่อชี้แจงในคณะกรรมาธิการ
ขณะที่
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เผยว่า "กลาโหม" ได้หารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงเหตุผลความจำเป็นของการเสริมสร้างกำลังทางทะเลรับมือกับสภาพแวดล้อมภัยความมั่นคง โดยเฉพาะมิติใต้น้ำที่เรามีความสามารถจำกัด เพื่อรักษาดุลยภาพความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤติจากโรคร้ายแรง นายกฯและ รมว.กลาโหม จึงให้กองทัพเรือไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือยืดเวลาออกไปก่อน
โดย "กลาโหม" เห็นถึงปัญหาภาระงบประมาณและความจำเป็นเร่งด่วนในการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ประเทศชาติ และสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในปี 63 และปี 64 ที่ผ่านมา ทร.ได้ส่งคืนงบประมาณจำนวน 3,375 ล้านบาท และ 3,425 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และความจำเป็นเร่งด่วนจึงให้ "กองทัพเรือ" ถอนแผนงานเรือดำน้ำออกไปก่อน โดยให้หารือกับ "กลาโหมจีน" ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขอชะลอโครงการในปีนี้ออกไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อมองถึงแผนยุทธศาสตร์ของ ทร. จะต้องมีเรือดำน้ำ 3 ลำ เพื่อดูแลความมั่นคงทางทะเลทั้ง 2 ด้าน คือ อ่าวไทย และอันดามัน รวมถึงการใช้หมุนเวียนสำหรับซ่อมบำรุง และมีเรือพี่เลี้ยง เรือยกพลขึ้นบก LPD คอยส่งกำลังบำรุงบนผิวน้ำ ซึ่งเกรงว่าหากในงบฯ ปี 2566 สถานการณ์โควิดคลี่คลาย และเป็นช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาจเป็นเหตุผลให้ฝ่ายค้านนำมาขุดคุ้ยโจมตี และอาจต้องชะลอการจัดซื้อไปอีก แม้ "กองทัพเรือ" จะพยายามชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำต่อเนื่องแล้วก็ตาม
"การจัดซื้อเรือดำน้ำแต่ละลำใช้เวลาถึง 6 ปี การที่ถูกชะลอมาแล้ว 3 ปี ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย และการดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ความมั่นคงน่านน้ำไทย ทั้งนี้หากกองทัพเรือได้เรือดำน้ำ ลำ 2-3 มาก็อาจล้าหลังไปแล้ว เพราะการต่อเรือต้องใช้เวลา 6 ปี ถึงจะเสร็จก็ประมาณ 2571 รวมถึงระบบภาคพื้น ท่าเรือ อู่ซ่อม ระบบสื่อสาร มันสัมพันธ์กันหมด" นายทหารระดับสูง ทร.เปรย
"กองทัพเรือ" ไม่ได้ออกมาพูดเพื่อให้ขอความเห็นใจ แต่ภารกิจและหน้าที่ของ ทร. ต้องดูแลความมั่นคงและอธิปไตยของชาติทางทะเล จึงเห็นว่าหากมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ก็เหมือนเรามีเครื่องมือในการป้องกันประเทศไม่ให้ใครมารุกราน หรือข่มขู่ และถือเป็นหมัดเด็ดในการมีอำนาจต่อรองในมิติของยุทธศาสตร์ความมั่นคงนั่นเอง
เพราะ "กองทัพเรือ" เป็นด่านหน้าทางทะเลในการป้องกันประเทศ เราจำเป็นต้องมีอาวุธในเชิงป้องปรามได้เช่น "เรือดำน้ำ" ซึ่งเปรียบเสมือนเราได้เตรียม "วัคซีน" ไว้ก่อนนั่นเอง.
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : Varanya Phae-araya
Related Keywords