เปิดชีวิต ติ๊ก Playground ศิลปินอินดี้ ทำค่ายเพลง ก่อนจะสูญเสียเพื่อนรัก
บันทึก
จากศิลปินวงอินดี้ สู่ผู้บริหารค่ายเพลง Home Run Music
ช็อกที่สุดในชีวิต เมื่อต้องสูญเสียเพื่อนรักอย่าง ตุ้ย Playground
เป็นอีกหนึ่งศิลปินวงอินดี้ที่มีแฟนเพลงติดตามผลงานมายาวนาน 17 ปีแล้ว สำหรับ
ติ๊ก Playground เจ้าของเพลงดัง อาทิ ปล่อยวาง, มุม, Soulmate ที่ตอนนี้มีบทบาทใหม่ในฐานะผู้บริหารค่ายเพลง “Home Run Music” ในเครือ Muzik Move ที่ตอนนี้มีศิลปินในสังกัด 3 คนแล้ว แต่ยังคงมีงานเพลงของตัวเอง เพราะกำลังจะมีผลงานใหม่ของวง Playground กับเพื่อนสมาชิก
ตุ้ย วัชระ, ตุลย์ เหมือนสร้อย, เก้ง ปรัชญา ซึ่งจะถูกปล่อยผลงานภายในปีนี้
ข่าวแนะนำ
แต่หลังเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อตุ้ย มือกีตาร์วง Playground เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อ 23 มิ.ย. 2564 สร้างความเศร้าเสียใจอย่างมากให้กับคนในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนๆ แฟนๆ รวมถึงเพื่อนสนิทอย่างติ๊กและสมาชิกในวง เขาจะทำยังไงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันเช่นนี้
บันเทิงไทยรัฐออนไลน์พูดคุยกับติ๊กถึงวันวานที่ก้าวสู่วงการเพลงร่วมกับเพื่อนๆ ก่อนจะมาทำค่ายเพลงและจะมีผลงานใหม่ และในวันที่เขาต้องสูญเสียเพื่อนรักอย่างตุ้ยไปอย่างไม่มีวันกลับ
โมเดิร์นด็อกคือแรงบันดาลใจ
เราถามถึงชีวิตวันวานของติ๊กว่า กว่าจะมีชื่อเสียงทุกวันนี้ว่าเป็นยังไงบ้าง ติ๊กหัวเราะก่อนจะบอกว่า “สนุกมากครับ สำหรับพี่คือสนุกที่สุดในจักรวาลเลยครับ ด้วยความที่ตัวพี่เองมีความฝันอย่างเดียวในชีวิตตั้งแต่ประมาณ ม.1 ว่าอยากจะเป็นศิลปินที่แต่งเพลงเอง ร้องเพลงเอง มีวงของตัวเอง ตอนนั้นพี่ชอบวงโมเดิร์นด็อกเป็นไอดอล พี่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยากจะทำ”
ถามว่าทำไมชอบโมเดิร์นด็อก นักร้องหนุ่มเล่าว่า รู้สึกว่าเขาเป็นวงดนตรีที่สร้างความแตกต่างให้กับวงการเพลงไทย “ตอนนั้นทุกคนที่อยู่ในวงการเพลงไทยจะรู้สึกว่ามีความเป็นแพลตฟอร์มของการเป็นไอดอล มีความเป็นดารา เป็นสตาร์ แล้วโมเดิร์นด็อกสร้างปรากฏการณ์จริงๆ ในมุมของคนเป็นศิลปิน นักดนตรี มันจะมีแพตเทิร์นแบบนี้เหมือนกัน เราก็รู้สึกว่านี่แหละทางของเรา เราไม่มีทางเป็นดาราหรือไอดอลแบบลิฟท์กับออยได้แน่ๆ (หัวเราะ)
เรารู้สึกว่าเป็นไปได้ เพราะเราแต่งเพลงเป็น ร้องเพลงเองได้ เราเล่นคอนเสิร์ตให้คนสนุกได้ คือเมื่อก่อนเราคิดว่าถ้าไม่หล่อก็จบแล้ว เลยรู้สึกว่าเป็นแพชชั่น และด้วยตัวเพลง เราฟังเพลงแล้วรู้สึกว่าในเนื้อเพลง ดนตรีทั้งหมดของพี่เขา มันมีคอนเทนต์ที่มันแตกต่างจากเพลงทั่วไปตอนนั้น เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ มีเพลงหลายแบบที่สามารถเขียนออกมาได้ อย่างเพลงโมเดิร์นด็อกบางเพลงไม่เกี่ยวกับความรักเลย รู้สึกว่าเฮ้ย มันเจ๋งน่ะ เรียกว่าโมเดิร์นด็อกคือแรงบันดาลใจ ถ้าไม่มีโมเดิร์นด็อกในวันนั้น ไม่มีติ๊ก Playground แน่นอนครับ”
วันที่ฝันเป็นจริง
จากนั้นติ๊กพยายามทำความฝันให้เป็นจริงด้วยการฝึกฝนตัวเองในด้านดนตรี ฟอร์มวงดนตรีอินดี้กับเพื่อน และมีโอกาสไปประกวดในงาน “Live A Day” ของนิตยสาร A Day ในเพลง “Kung Fu” ติ๊กบอกว่าถ้าย้อนกลับไปวันนั้น รู้สึกว่าเป็นวันที่เข้าใกล้ความฝันแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเองมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เวลาไปเรียนก็ชอบเคาะโต๊ะ แต่งเพลง มันคือสิ่งที่ฝันไว้ตลอด จนวันนึงที่ได้อยู่บนเวทีของนิตยสารที่ชอบอ่าน และเชื่อว่าคนที่ชอบอ่านนิตยสารเล่มนี้น่าจะชอบในสิ่งที่เราเป็นเช่นกัน เพราะเราไม่เหมือนใคร
“คือถ้าตอนนั้น Playground ไปประกวดดนตรีแบบจริงจัง วัดที่ฝีมือ เราไม่เคยชนะใครสักคน (หัวเราะ) แต่ถ้าเราไปแข่งประกวดโดยการที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือก่อนหน้านี้จะมีงานบางงานที่เราใช้เพลงตัวเองประกวด อย่างเพลง “ปล่อยวาง” ถ้าเขามีกติกาแบบนี้ เราจะเข้ารอบเกือบเสมอเลย ซึ่งในงาน A Day มันเหมือนรวมคนที่ชอบสิ่งเหล่านี้ เราเลยคิดว่าน่าจะทำให้เราเข้าใกล้ความฝันมากที่สุดแล้ว เราเลยทำเต็มที่ สนุกมาก และหวังผลว่ามันคงเป็นจุดที่ทำให้อย่างน้อยมีคนเห็นเราในซีดีที่เขาจะแถมไปในนิตยสารด้วย นอกจากสนุกในการเล่นดนตรีแล้วก็มีเพื่อนหลังเวทีด้วย”
และเมื่อวง Playground เป็นศิลปินในสังกัด RIP Studio ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดแรก “Welcome To Cubic World” ในปี 2547 มีเพลงดัง อาทิ Soul Mate, ปล่อยวาง ติ๊กเล่าว่า ไม่ได้คิดว่าเพลงที่ทำจะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ว่าตอนช่วงที่ทำก็อยากให้มันเกิดให้ได้ “เราไม่เชื่อเรื่องความดัง เราคิดว่าเราคงทำได้แค่แต่งเพลงให้ออกมาเป็นอัลบั้ม แต่ความดังพวกนั้นเป็นเรื่องที่มันเป็นของแถมสำหรับผมนะ ไม่ได้คาดการณ์เอาไว้
แต่เป็นเรื่องที่ดีงามในชีวิตนะ ยังจำบางวันได้เลย มันจะมีช่วงเวลาจากวันที่เราเล่นคอนเสิร์ตแล้วคนยังนั่งดูอยู่ แค่พิธีกรประกาศชื่อแล้วทุกคนกรูขึ้นมาหน้าเวทีเตรียมจะสนุกแล้ว ผมยังจำรอยต่อของวันเหล่านั้นได้ สำหรับพวกเราเหมือนหนังเกี่ยวกับวงดนตรีที่เราเคยดู ในชีวิตพวกเราเองถือว่าเป็นของขวัญที่มีค่ามากๆ ทำให้ผมต่อยอดในการที่จะทำให้น้องๆ ที่มีความฝันในเรื่องแบบนี้ให้มันเกิดขึ้น เพราะสำหรับผมเองถือว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดในชีวิตครับ”
เมื่อย้ายมาแกรมมี่
แม้ในเวลานั้นการเป็นศิลปินค่ายเพลง RIP Studio จะแฮปปี้ดี ทำงานคล่องตัว แต่ในที่สุดติ๊กและเพื่อนๆ สมาชิกวง Playground ก็ตัดสินใจย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมมากอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในปี 2550 โดยติ๊กให้เหตุผลว่า “เพราะตอนนั้นค่ายเล็กๆ เขาปิดไป ช่วงนั้นผมเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนๆ ในวง เพราะต้องเล่นคอนเสิร์ตเกือบทุกวัน แล้วในวันที่ค่ายเรากำลังจะปิด ผมก็นั่งเล่นเน็ต เล่น MSN อยู่ดีๆ มีผู้ชายคนนึงออนขึ้นมาแล้วทักมาหาผม
ผู้ชายคนนั้นคือคุณฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม) ทักขึ้นมาว่าเป็นยังไงบ้าง คือตอนนั้นผมจำได้ว่าผมกับพี่เบียร์น่าจะเคยไปเป็นกรรมการประกวดดนตรี ก็เลยรู้จักกัน พอคุยกันไป อยู่ดีๆ ผมก็บอกว่า เฮ้ย พี่เบียร์ ค่ายผมกำลังจะปิด พี่เบียร์ก็ถามว่า อ้าว มาอยู่แกรมมี่มั้ยล่ะ ผมก็หันไปถามเพื่อนๆ ที่อยู่ในห้อง เพื่อนก็บอกว่า เฮ้ย ไปสิ ผมก็เลยย้ายมาอยู่ที่แกรมมี่เลยครับ
จริงๆ ตอนนั้นคุยผ่านพี่เบียร์โดยที่ยังไม่ได้เจอกับผู้ใหญ่ที่แกรมมี่ แล้วก็เข้าไปเซ็นสัญญาเลย ซึ่งที่แกรมมี่เป็นที่ที่น่าสนใจมากในตอนนั้น พอเข้าไปก็ปรับตัวบ้างครับ แต่ด้วยความที่ว่าก่อนหน้านี้เราเล่นคอนเสิร์ตเยอะเหมือนกัน เจอเพื่อนๆ ศิลปินหลังเวทีตลอด แล้วผมว่าวงผมไม่ค่อยมีพิษมีภัย มีพี่ๆ น้องๆ ศิลปินที่รู้จักกันอยู่แล้วบ้าง ตอนมาอยู่แกรมมี่เหมือนไปเจอเพื่อนที่เคยเจอบนเวทีคอนเสิร์ต แต่ตอนนี้มาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับจากพี่น้องศิลปินแกรมมี่
เรารู้สึกว่าบางอย่างที่เราปรับตัว เหมือนเปลี่ยนฐานของโลกที่เราเคยอยู่ เราเป็นวงดนตรีอินดี้ ที่ที่เราอยู่จะอยู่ตามหน้ามหาวิทยาลัย หรือตามหัวเมืองต่างๆ แต่พอมาอยู่แกรมมี่ แรกๆ เราเจองานที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลย เช่น เล่นคอนเสิร์ตตามงานกาชาด หลายๆ งานพูดตรงๆ เลยว่าตอนเราเป็นอินดี้ เราไปเฉพาะตรงที่เขาอยากให้เราไป แต่พออยู่แกรมมี่ โลกมันกว้างใหญ่ เราได้ไปเล่นจังหวัดใหม่ๆ วงเราก็เหมือนนับหนึ่งใหม่เหมือนกัน ทำให้เรามีการตั้งรับอะไรหลายอย่าง แต่ว่าเวลาผ่านไป มันเป็นสกิลที่ทำให้เราพัฒนาตัวเอง ทำให้เราไปอยู่ได้ทุกที่ เปิดโลกกว้างมาก”
กับคำถามว่า จากค่ายเล็กมาอยู่ค่ายใหญ่ ขั้นตอนการทำงานที่แตกต่าง ทำให้รู้สึกไม่ใช่สไตล์หรือไม่ ติ๊กตอบว่า “ก็เคยคิด ในช่วงที่อยู่แกรมมี่ 8 ปี ตอนที่เริ่มเข้าไป พี่เบียร์บอกว่า ให้เป็นแบบที่เป็น ดังนั้นเราแค่เป็นตัวเองที่แกรมมี่ ตอนนั้นก็แทบจะเหมือนเดิมเลย แต่อย่างเรื่องเอ็มวีมีการลงทุนมากกว่า แต่ในตัวการทำงานคือเรานำเสนอได้เหมือนเดิม แต่มีช่วงนึงที่เราทำงานผ่านระบบ มีการคัดกรองจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ตอนนั้นจะเริ่มงงเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยเจอการทำงานแบบนี้ มันทำให้ช่วงนั้นใช้เวลานานอยู่เหมือนกันในการปรับตัวและจูนหาตรงกลาง
มีช่วงนึงรู้สึกท้อเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วทำจนเสร็จและออกมาเป็นอัลบั้มได้ ก็เป็นอัลบั้มที่ผมชอบเหมือนกันครับ หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงที่เข้าไปอยู่ค่ายสนามหลวงแล้ว ก็แทบจะเหมือนตอนที่อยู่ค่ายอินดี้เลยครับ คือได้ทำทุกอย่างตามที่เราอยากทำ ด้วยความที่แกรมมี่เป็นค่ายใหญ่ กระบวนการทำงานของแต่ละค่ายยังมีวิธีการทำงานที่ต่างกัน แต่จะบอกว่าดีหรือไม่ดีก็พูดแบบเหมารวมไม่ได้ ถ้าแยกส่วนจริงๆ ก็มีข้อดีข้อเสียเช่นกันครับ”
ถึงเวลาย้ายค่ายอีกครั้ง
หลังจากอยู่ในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และสนามหลวงมิวสิก มานา�
Related Keywords